หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต เป็นหลักสูตรวิชาชีพได้รับการรับรอง มาตรฐานจากสภาเภสัชกรรม มีเป้าหมายในการผลิตเภสัชกรที่มีคุณธรรมจริยธรรมและเจตคติอันดีงามในการ ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่มีความรู้ความสามารถและทักษะทางวิชาชีพชั้นสูง การจัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับ 21st century skill outcomes ในระดับสากล ชั้นปีที่ 1-4 เน้นความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานทางเภสัชกรรมขั้นพื้นฐาน ชั้นปีที่ 5 และ 6 สามารถเลือกเรียนด้านเภสัชอุตสาหการ (การผลิต ตรวจวิเคราะห์ ประกันคุณภาพ วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา สมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง เป็นต้น ) และด้านบริบาลทางเภสัชกรรม (การดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ร้านขายยา งานคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น) นักศึกษาชั้นปีที่ 6 จะได้ฝึกทักษะการปฏิบัติงานวิชาชีพในแหล่งฝึกงาน เช่น โรงงานอุตสาหกรรมผลิตยาระดับแนวหน้าของประเทศ โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลอีกหลายแห่งที่เป็นสถานพยาบาลชั้นนำของประเทศรวมถึงร้านยา คุณภาพ การสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนี้ นักศึกษาต้องฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 2,000 ชั่วโมง และต้องมีจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 225 หน่วยกิต
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
แล
เพื่อให้การศึกษาเภสัชศาสตร์ทั้งด้านพื้นฐานและด้านวิชาชีพ อันจะทำให้นักศึกษามีความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม โดยบัณฑิตเภสัชศาสตร์ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- มีความรู้เกี่ยวกับสารหรือวัตถุที่นำมาใช้เป็นยาในกลุ่มต่างๆ ทางเภสัชศาสตร์ ทั้งแหล่งที่มา เคมีของยา การออกฤทธิ์ของยา เพื่อให้สามารถประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพในระดับประเทศและสากล
- มีความสามารถและทักษะในการตั้งตำรับยา การผลิตยาแผนปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ รวมไปถึงการควบคุมและประกันคุณภาพ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล
- มีความสามารถและทักษะในการให้การบริบาลทางเภสัชกรรม ตั้งแต่การประเมินสภาวะของผู้ป่วยเบื้องต้น การค้นหาปัญหาทางยา การแก้ปัญหาทางยา การกำหนดแผนการดูแลผู้ป่วยทางยา การให้คำแนะนำระหว่างการจ่ายยา และการวางระบบยาให้เกิดการใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และพอเพียง
- มีความสามารถและทักษะในการสื่อสารเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ที่เหมาะสมตามความต้องการของผู้ป่วยเฉพาะราย และบุคลากรสาธารณสุขอย่างถูกต้อง ทันสมัย และเชื่อถือได้
- มีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ค้นหาข้อมูล คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประยุกต์ใช้ความรู้ทางเภสัชศาสตร์เพื่อเป็นรากฐานสำหรับการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต
- มีความรู้ความสามารถในการส่งเสริมสุขภาพอนามัยของชุมชน และการป้องกันโรค
- มีคุณธรรม จริยธรรม และปฏิบัติตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม
ศึกษาแนวทางประกอบอาชีพเภสัชกร
ผู้เข้าศึกษาจะมีความรู้ทางด้านเภสัชศาสตร์ และเมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้วจะสามารถประกอบอาชีพใน สาขาต่างๆ ทั้งในหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน ดังนี้
- เภสัชกรโรงพยาบาลในสถานพยาบาลทุกระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน
- เภสัชกรชุมชน
- เภสัชกรประจำโรงงานอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในด้านการผลิต ตรวจวิเคราะห์ ประกันคุณภาพ วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
- เภสัชกรด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น เภสัชกรที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลมาตรฐานของโรงงานและผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ เภสัชกรที่ปฏิบัติงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
- เภสัชกรด้านการศึกษา เช่น อาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์
- เภสัชกรด้านการวิจัยผลิตภัณฑ์ทางคลินิก
- เภสัชกรด้านการขึ้นทะเบียนยา
- เภสัชกรการตลาด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น