เภสัชสาธารณสุข
โรคทั่วไปสามารถอุบัติใหม่ได้เสมอจากการกลายพันธุ์และวิวัฒนาการของจุลินทรีย์ หรือแม้กระทั่งโรคเดิมที่สามารถควบคุมการระบาดได้แล้วสามารถอุบัติซ้ำได้ จึงจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังโรคเหล่านี้เสมอ ซึ่งต้องปฏิบัติทั้งในระดับบุคคลถึงระดับประชากร "เภสัชสาธารณสุข" เป็นการศึกษางานด้านสาธารณสุขมูลฐานและการประยุกต์ความรู้เหล่านี้มาใช้ในทางเภสัชกรรม วิชาด้านเภสัชสาธารณสุขมีความสัมพันธ์กับความรู้ทางสังคมและมานุษยวิทยาเป็นอย่างยิ่ง
- เภสัชเศรษฐศาสตร์ (Pharmacoeconomics) การเลือกบริการทางเภสัชกรรมที่ให้ผลคุ้มค่าต่อการรักษาสูงสุดจำเป็นต้องใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ในวิชา "เภสัชเศรษฐศาสตร์" เพื่อช่วยตัดสินใจวิธีการบริบาล ทั้งนี้การเลือกจำเป็นต้องคำนึงถึงประสิทธิผลทางการรักษาเปรียบเทียบกับเงินทุนที่ต้องใช้
- เภสัชระบาดวิทยา (Pharmacoepidermiology) การเลือกสรรยาที่ไม่ถูกต้องในการรักษานำมาซึ่งผลที่ไม่น่าพึงประสงค์และอาจก่อให้เกิดอันตราย รวมทั้งไม่สามารถรักษาโรคได้ จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังการใช้ยา และศึกษาอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ของยาโดยใช้ความรู้ทางระบาดวิทยามาใช้ในการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาและผลของยาในกลุ่มประชากร เพื่อผลลัพธ์ทางการบริบาลเภสัชกรรมสูงสุด
- นิติเภสัชศาสตร์ (Forensic Pharmacy) ศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายเกี่ยวกับทางเภสัชกรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพเภสัชกรรมในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
เภสัชศาสตร์สังคม
เภสัชศาสตร์สังคมเป็นการวิเคราะห์ระบบยาพฤติกรรมการใช้ยา ระบาดวิทยา การคุ้มครองผู้บริโภค และเภสัชเศรษฐศาสตร์ การคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ วิจัยและวิเคราะห์ระบบยาทางเภสัชศาสตร์สังคม
บริหารเภสัชกิจ
เป็นกลุ่มวิชาทางเภสัชศาสตร์ในการบริหารยาในภาคอุตสาหกรรม การบริหารจัดการ การตลาด การวิเคราะห์โอกาส หลักการตัดสินใจ การบริหารเวชภัณฑ์ การบริหารการเงิน และงบประมาณขององค์กรเภสัชกิจ
นอกจากนี้บริหารเภสัชกิจยังรวมถึงเภสัชกรรมการตลาดที่ศึกษาด้านหลักการตลาดยา พฤติกรรมของตลาด การจูงใจแพทย์ผู้เขียนใบสั่งยาและผู้ป่วย การพัฒนาเภสัชภัณฑ์การแข่งขัน และการส่งเสริมการตลาดของเภสัชภัณฑ์ โดยต้องใช้ความรู้ของหลักเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการวิเคราะห์วิจัยประเมินเปรียบเทียบผลการใช้ยา การให้บริการเภสัชกิจและการแพทย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา รวมทั้งการประยุกต์เภสัชเศรษฐศาสตร์ในงานเภสัชกรรม รวมถึงการฝึกปฏิบัติการดำเนินการวางแผนการวิจัย ขั้นตอนการทำวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งการนำเสนอผลงานด้านเภสัชกรรม
บริหารเภสัชกิจยังรวมไปถึงการจัดการร้านขายยา การลงทุน การเลือกทำเลที่ตั้ง การจัดแผนผังร้าน การส่งเสริมการขาย การตั้งราคา การขาย และการให้บริการการควบคุมยาคงคลัง การบริหารบุคลากรของร้านขายยา และบทบาทความรับผิดชอบของร้านขายยาต่อสังคม และการวิจัยทางการตลาดยา ศึกษาความหมาย ขอบเขต และประเภทของการวิจัยการตลาดยา รวมทั้งขั้นตอนของการวิจัย การเก็บข้อมูล การสุ่มตัวอย่าง การวางแผนวิเคราะห์ข้อมูล การเลือกใช้สถิติที่เหมาะสมในการวิเคราะห์ข้อมูล การแปลผลการรายงานผล และการเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น